วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Avengers: Age of Ultron

มันเป็นเหมือนการคาดหวังว่าครั้งที่ 2 จะต้องดีกว่าครั้งแรกเสมอ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้หรอกครับ Avengers: Age of Ultron เหมือนเป็นการพักยกของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่พบงานหลักและมาเจองานรองที่ไม่ค่อยอยากจะรับ

โดยการอ้างไปถึงคฑาของ “โลกิ” ที่แอสการ์ดอยากได้คืน ทำให้กลุ่มอเวนเจอร์สต้องออกตามหา จนไปเจอกับ “บารอน วอน สตรัคเกอร์” (อีกรายของวายร้ายที่มาเร็วและไปเร็ว) และการเลี่ยงบาลีของสตูดิโอมาร์เวลว่า “ควิกซิลเวอร์” และ “สการ์เล็ตต์วิทช์” กำเนิดมาจากพลังของการทดลองทางวิทยาศาตร์จากคฑาควบคุมจิตใจ ไม่ได้เป็น “มิวแทนต์” มนุษย์กลายพันธุ์ของเหล่า X-Men ที่ทางสตูดิโอฟ็อกซ์ได้สิทธิ์ไป

เนื้อเรื่องแบบสรุปง่ายๆคือ “โทนี่ สตาร์ค” ต้องการตำรวจโลกเพื่อป้องกันการรุกรานจากภยันตรายในทุกรูปแบบ จึงได้หาทางสร้างอัลตรอน ปัญญาประดิษฐ์เพื่อคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ภัยคุกคามนานัปการ สิ่งที่ผมชอบแบบสะใจคือ ในเมื่อคนสร้างอยากให้หุ่นช่วยคิดแทน แต่ในทางกลับกัน “คนสร้าง” ยังคิดไม่ออกและบางครั้งยังต้องทำลายทิ้งเพื่อสร้างสิ่งใหม่ “อัลตรอน” ก็คิดได้เหมือนกันว่า “งั้นผมก็ทำลายเลยแล้วกัน ง่ายๆ ไม่ยาก” แอบสงสารอัลตรอนเหมือนกันว่าไม่มีพวก แถมโดนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่รุมยำ ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่าผดุงความยุติธรรมต่างหาก

ที่แปลกใจคือ “แบล็ควิโดว์” ชอบ “บรู๊ซ แบนเนอร์” ผู้กำกับจอสส์ วีดอน มีมุมมองที่แยกออกมาจริงๆนับแต่สมัยทีวีซีรีส์ Buffy the Vampire Slayer ตัวละครผสมกันคละกันได้ไปหมด แต่นั่นมันทีวีที่แบ่งเป็นตอน ทำให้พอมีคำอธิบายความเป็นมา แต่ในหนังเริ่มต้นก็หักมุมบอกชอบกันทันที รวมถึง “นาตาชา” จะสวยในแบบผมสั้น (วีดอน) หรือเซ็กซี่ในแบบผมยาว (รุสโซ่)  ส่วน “สตีฟ โรเจอร์ส” ตอนจบของ Captain America: The Winter Soldier กำลังจะไปตามหา “บัคกี้ บาร์นส” แต่กลับมารวมกันเฉพาะกิจ ทำให้รู้สึกความไม่ต่อเนื่องของเหตุการณ์ แต่มีข่าวออกมาว่าความยาวภาพยนตร์ของจริงมัน 3 ชั่วโมงกว่า แต่ผู้กำกับตัดเหลือ 2 ชั่วโมง 20 นาที (นึกถึง Titanic เลย) ฉากแห่งการรอคอยไม่ใช่ตอนรวมพลังต้านทานเหล่าหุ่นยนต์ของทีม แต่เป็น “ฮัลค์” ปะทะ “ฮัลค์บัสเตอร์” ครับเพราะตอนเรียกเกราะมารวมร่าง รวมถึงเปลี่ยนอะไหล่แขนใหม่มันเท่ห์มากจริงๆ


คงต้องคิดเป็นว่าเราเชื่อม The Avengers ภาคแรกต่อกับภาคสอง Age of Ultron เพื่อไม่ให้อารมณ์สะดุด นอกจากนี้มีไข่อีสเตอร์สเยอะมาก รวมถึง “อินฟินิตี้เจมส์” ก็ตามกันเหนื่อยแล้วครับ  คิดว่าพลังดาราที่มารับบทซูเปอร์ฮีโร่อย่าง  ดอน เชียเดิล “วอร์แมชชีน”, อลิซาเบ็ธ โอลเซ่น “สการ์เล็ตวิทช์” , แอนโธนี่ แม็คคี “เดอะฟอลค่อน” และล่าสุดกับ พอล เบ็ททานี่ “วิชั่น” ยังไม่พอที่ทางสตูดิโอจะนำมาเป็นทีมอเวนเจอร์สใหม่ได้แน่นอน  จึงจำเป็นต้องทดสอบพลังกันอีกครั้งใน Captain America: Civil War ที่เราจะได้ชมกันในปีหน้าพร้อมกับ การมาถึงของ “สไปเดอร์-แมน” คนใหม่ที่คาดว่าน่าจะเป็น อาซ่า บัทเตอร์ฟิลด์ ที่มีผลงานที่ผ่านมาอย่าง Hugo, Ender’s Game, The Boy in the Striped Pyjamas และ X+Y

ทิ้งท้ายคือมาร์เวลเริ่มเปลี่ยนบท "โทนี่ สตาร์ค" ของโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ให้ไม่มากเกินกว่า "สตีฟ โรเจอร์ส" ดาวนีย์ เซ็นต์สัญญากับทางสตูดิโอเป็นเรื่องๆไป สังเกตุได้จาก AOU คือสัญญาแบบมัดรวมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเพิ่มสัญญากับภาพยนตร์ Civil War ถ้าตัวละครอื่นไปได้ดี หรือเรียกว่าขายได้แล้ว "ไอร่อนแมน" คงหมดบทบาทในจักรวาลภาพยนตร์ และรอคอยผู้ที่เหมาะสมมารับบท "มหาเศรษฐีพันล้าน สุดแสนจะใจบุญ" ในโอกาสต่อไปครับ 

ติดตามข้อมูลภาพยนตร์ได้ที่ Entertainview https://www.facebook.com/pages/Entertainview/172702066075577?ref=hl



วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Night at the Museum: Secret of the Tomb


ในยุค 90 หากจะดูหนังครอบครัวตลก คงต้องยกให้ โรบิน วิลเลี่ยมส์ ไม่ว่าจะเป็น Mrs.Doubtfire, Jumanji หรือ Hook วิลเลี่ยมส์เป็นนักแสดงที่มาจากทีวีซีรีส์ Mork & Mindy หรือบทดราม่าอย่าง Good Morning Vietnam, Dead Poets Society (เรื่องโปรดของผมเลย) , Good Will Hunting เมื่อดู Night at the Museum ภาคแรกจึงเหมือนการส่งต่อไม้อย่างเป็นทางการสำหรับผม ในขณะที่ เบ็น สติลเลอร์ เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดง ได้รู้จักกันจริงจังจาก  There's Something About Mary ประกบ คาเมรอน ดิอาซ หลังจากนั้นก็มีหนังสุดฮิตอย่าง Meet the Parents และการพากษ์เสียง "อเล็กซ์" ในการ์ตูน Madagascars 

สิ่งที่ผมคาดหวังคือการที่จะให้หนังมีบทที่เสริมความสนุกให้กันระหว่าง เบ็น กับ โรบิน นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันหายไปในเรื่องนี้ เพราะผู้กำกับดันบท "ลา" (ที่แสดงโดย เบ็น สติลเลอร์ เหมือนกัน) ให้เป็นตัวละครยิงมุขแทน 

เปิดฉายในสหรัฐอเมริกาด้วยรายได้ 17 ล้านเหรียญ Night at the Museum: Secret of the Tomb “ความลับสุสานอัศจรรย์” เบน สติลเลอร์ กลับมารับบท “แลร์รี่ ดาลีย์” อีกครั้ง พร้อมกับทีมนักแสดงที่คุ้นเคยอย่าง โอเว่น วิลสัน, สตีฟ คูแกน และ นักแสดงผู้ล่วงลับ โรบิน วิลเลี่ยมส์ ภายใต้การกำกับของ ชอว์น เลวี่


“แลร์รี่” ต้องออกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษเพื่อหาทางแก้ไขการเสื่อมพลังของศิลาจารึกตามที่ “อัห์คเมนราห์” ได้บอกไว้ว่าต้องถามพระราชบิดา “เมเรนคาห์ร” เพียงอย่างเดียว การเดินทางทำให้เขาได้พบกับพนักงานเฝ้ายามหญิง “ทิลลี่” และหุ่นขี้ผึ้ง “เซอร์แลนซาล็อต” 
สองนักแสดงคู่หู โอเว่น วิลสัน กับบทคาวบอย “เจดไดอาห์” และ สตีฟ คูแกน นักรบแห่งโรมัน “อ็อคเทเวียส” และที่ขาดไม่ได้คือตัวละครลิง  “เด็กซ์เตอร์”  (ผมฮากับ 3 ตัวละครนี้ที่สุดตอนช่วงเมืองปอมเปอี ^^)

การผสมผสานกับงานซีจีที่ทำกันมาถึงภาคที่ 3 ทำให้ความสดใหม่หรือความตื่นตาถูกลดทอนลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังนั้นไม่สนุก  ตัวหนังนั้นพยายามนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “แลร์รี่” และ “นิค” พ่อและลูกชายที่เป็นวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะทำงานหรือเรียนต่อ  เชื่อมโยงไปถึง “ลา” ที่คิดว่าเขาเป็นลูกชาย “แลร์รี่” เหมือนกันเพราะหน้าตา และ “อัห์คเมนราห์” กับพระราชบิดา ที่ผมคิดว่า 2 ตัวละครหลังนี้ หนังไม่ค่อยแสดงให้รู้สึกถึงความสัมพันธ์มากสักเท่าไหร่  ส่วนตัวละคร “ทิลลี่” ของนักแสดงหญิง รีเบล วิลสัน น่าจะใช้ประโยชน์จากความสามารถเธอได้มากกว่านี้  

ประเมินจากรายได้ภาพยนตร์ในสหรัฐฯ น่าจะเป็นการปิดไตรภาคอย่างเป็นทางการแล้ว ตัวเลขเปิดตัวไม่สามารถเทียบได้กับสองภาคแรก  (ประมาณว่าจบไม่ดีเหมือนกับกรณีของ The Hangover Part III)  ในมุมมองของเนื้อเรื่องไม่สลับซับซ้อน เดินเรื่องรวดเร็วและยังคงเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นระยะ บทไหลตามเนื้อเรื่องแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก แถมยังมี 2 นักแสดงมาในบทรับเชิญเป็น ฮิวจ์ แจ็คแมน “กษัตริย์อาเธอร์” และ อลิซ อีฟ “องค์หญิงกวิเนเวียร์” เป็นอะไรที่ดูน่ารักสำหรับทั้งคู่นี้ 

ต้นฉบับจาก oknation.net เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2557 แก้ไขและเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม 27 พฤษภาคม 2558

เฟซบุ๊ค Entertainview 
https://www.facebook.com/pages/Entertainview/172702066075577



วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

John Wick v The Equalizer


ได้ดูภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น 2 เรื่องต่อเนื่องกันคือ John Wick ตามด้วย The Equalizer ด้วยความอยากรู้ว่า คีอานู รีฟส์ และ เดนเซล วอชิงตัน เล่นดีขนาดไหน สตูดิโอถึงประกาศสร้างภาคต่อทั้งสองเรื่องในเวลาใกล้เคียงกัน

John Wick “แรงกว่านรก” หลังจากชื่นชอบ คีอานู นับแต่ Bill & Ted’s Excellent Adventure หนังตลกแฟนตาซียุค 90 ตามด้วย Little Buddha และ Speed มาจบด้วยไตรภาคของ The Matrix ผมว่าเขามีรูปการแสดงที่แข็งๆแต่ถ้ามีบทที่เหมาะสมจริงๆคงเป็น Speed กับ The Matrix นี่แหละ ใน John Wick นี้รับบทเป็นอดีตมือสังหารของมาเฟีย แต่เลิกแล้วหลังตกหลุมรักกับหญิง แต่เมื่อแฟนตายไป เธอได้ฝากสุนัขไว้ให้เพื่อไม่ให้พระเอกเราเหงาๆ ชนวนเหตุมาจากเจ้าสุนัขนี้เพียงตัวเดียวที่ลูกชายของเจ้าพ่อมาเฟียที่ “จอห์น วิค” เคยทำงานให้มาปล้นรถและฆ่าหมาทิ้ง สไตล์หนังคือมีการนำเสนอโลกมืดของเหล่าแก๊งค์มาเฟียและกฎระเบียบของเหล่านักฆ่า นำเสนอแบบยิงกันแบบ “เฮดช็อต” และ “เลือดสาด” มีเพียงฉากเดียวที่ผมคิดว่า คีอานู เล่นแบบได้อารมณ์คนจบปวดจากความแค้นคือฉากที่ถูกทรมานและสบถเรื่องของชีวิตตัวเองด้วยความเจ็บปวด

The Equalizer “มัจจุราชไร้เงา” ภาพยนตร์ที่รีเมคมาจากทีวีซีรีส์ พระเอกของเราคือ เดนเซล วอชิงตัน (จะบอกว่าชอบบทของเขาใน Training Day มาก แถมสะใจตอนท้ายที่เขาโดนยิงตาย) รับบท “โรเบิร์ต แม็คคอลล์” คนมีอดีตเหมือน “จอห์น วิค” ที่ลาวงการหลังแฟนเสียชีวิต (เหมือนกัน) อยากใช้ชีวิตธรรมดาแต่เมื่อธรรมชาติของคนมันเปลี่ยนยาก พอได้เห็นหญิงสาวโสเภณีที่ถูกกดขี่จากพวกมาเฟียแมงดา ทำให้เขาต้องไปขอร้องด้วยความสุภาพ ก่อนจะจบด้วยการ “เลือดสาด” (เหมือนกัน) ใน The Equalizer ยังไม่ได้เล่าถึงอดีตอย่างชัดเจนว่าเขาเคยทำภารกิจอะไรมาบ้าง ยังสามารถขยายและเพิ่มรายละเอียดเนื้อเรื่องได้ต่อไปอีกในภาคสอง ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วในตอนท้ายเรื่องว่าเขาเริ่มรับงาน “แก้ปัญหา” อย่างที่เขาถนัด ไม่ปิดกั้นตัวเองอีกต่อไป

John Wick เล่าเรื่องแบบตะลุยแหลก แต่ The Equalizer เล่าได้มีมิติมากกว่าซึ่งในครึ่งแรกเล่าเหมือนแนะนำตัวละครอย่างซูเปอร์ฮีโร่ที่ค่อยๆขจัดเหล่าร้ายทีละรายจนถึงตัวใหญ่ในตอนท้าย ถ้าให้คะแนนความชอบ ผมชอบ The Equalizer มากกว่า แต่จากสัดส่วนทุนสร้างรายรับที่ได้กลับมา John Wick ได้กำไรมากกว่า The Equalizer คำถามคือถ้าบทของ John Wick ยังนำเสนอในมุมเดิมไม่มีเนื้อเรื่องเพิ่มเติม ภาพยนตร์จะยังดึงดูดผู้ชมได้หรือเปล่า? ในขณะที่ The Equalizer ยังมีแบ็คกราวด์ของ “แม็คคอลล์” ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง..

เฟซบุ๊ค Entertainview 
https://www.facebook.com/pages/Entertainview/172702066075577




วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

American Sniper


American Sniper ผลงานกำกับของคลิ้นท์ อีสต์วู้ด เล่าเรื่องของ “คริส ไคลย์” มือปืนซุ่มยิงที่ทางการรายงานว่าสามารถสังหารศัตรูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เริ่มแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมากับการปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความเครียดว่า “คริส” จะยิงเด็กที่ถือระเบิดในมือหรือไม่? ดึงความสนใจได้ไม่น้อยทีเดียว พร้อมเปิดตัวช่วงเวลาแห่งการชิงรางวัลอีกต่างหา

American Sniper มีฉากสงครามที่กดดันอีกหลายฉากรวมถึงการสังหารตัวประกันที่เป็นเด็กและชายผู้เป็นพ่อต่อหน้าต่อตาทหารอเมริกันที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบทุกด้าน ภาพยนตร์ไม่ได้เล่าให้สหรัฐอเมริกาชนะโดยตลอด  ฝ่ายอเมริกาก็สูญเสียด้วยเช่นเดียวกันแม้จะถูกฝึกมาจากหน่วยซีลก็ตาม

“คริส ไคลย์” ในภาพยนตร์ไม่ได้เป็นคนที่เลือดเย็น แต่ได้รับการปลูกฝังให้เป็น “สุนัขเลี้ยงแกะ” จากพ่อของเขา และเป็นอีกหนึ่งคนที่ชีวิตเปลี่ยนหลังจากวินาศกรรมเหตุการณ์ 11 กันยายน เข้าสู่หน่วยซีล แต่ไม่ได้อยากดังแม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตำนาน” หรือการได้รับความนับถือจากทหารผ่านศึกต่อหน้าลูกชาย  เขาก็ไม่ได้ยิ้มหรือยินดีแต่อย่างใด  ทุกครั้งที่กลับมาจากสมรภูมิทำให้มีผลกระทบต่อครอบครัวเช่นเดียวกัน

แม้ปลดประจำการ “คริส ไคลย์” ก็ยังคงช่วยเหลือเพื่อนทหารผ่านศึกด้วยกันจนวาระสุดท้าย เป็นอีกภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสงครามทิ้งไว้ทั้งบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ
แบรดลี่ย์ คูเปอร์ พัฒนาร่างกายจนเหมือนกับ คริส ไคลย์ เมื่อใดก็ตามที่นำเสนอฉากการรบทำให้ตื่นเต้นได้ตลอดเวลา  ทำให้ได้รู้เพิ่มเติมว่าเวลามือปืนซุ่มยิงปฏิบัติภารกิจเขาทำงานกันอย่างไรด้วย  ภาพยนตร์เข้าชิง 6 รางวัลออสการ์หวังว่าจะได้สักรางวัล เพียงเสียดายว่า คลิ้นท์ อีสต์วู้ด ไม่ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมครับ

*เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2558 ที่บล็อก oknation.net
http://www.oknation.net/blog/angelrous/2015/01/31/entry-1

เฟซบุ๊ค Entertainview
https://www.facebook.com/pages/Entertainview/172702066075577?ref=tn_tnmn

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

The Age of Adaline ความสุขไม่ได้อยู่กับการที่มีชีวิตยืนยาว


เคยดูภาพยนตร์ที่ เบลค ไลฟ์ลีย์ เล่นเรื่องเดียวคือ Green Lantern คู่กับ ไรอัน เรย์โนลด์ส (ปัจจุบันทั้งคู่แต่งงานกันไปเรียบร้อยและมีลูกสาว 1 คน) นอกนั้น Savages หรือแม้แต่ทีวีซีรีส์ Gossip Girls ก็ไม่ได้ดู รู้แต่ว่าเธอสวย

แต่สำหรับ The Age of Adaline เบลค ไลฟ์ลี่ย์ ในบท “อดาไลน์” เธอทั้งสวยและ “เป๊ะ” มาก (หรือจะใช่คำว่า “เป๊ะเว่อร์” ดี?) ทีมงานคงเน้นส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายแต่ละยุคสมัยอย่างละเอียด ออกมาทีละนิดหน่อย ไม่ได้อัดมาให้ดูเหมือนยัดเยียด บทของหญิงสาวผู้หยุดอายุตนเองไว้ที่ 29 ปีหลังจากประสบอุบัติเหตุ เปิดโอกาสให้ได้แสดงชุดและทรงผมในแต่ละยุคอีกด้วย แม้บทจะน้อยกว่านางเอกเยอะ แต่พระเอก “เอลลิส โจนส์” ของ มิคิเอล ฮิวส์แมน ก็มีเสน่ห์ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

เสริมด้วยทีมนักแสดงอย่าง แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในบท “วิลเลี่ยม โจนส์” และ เอลเลน เบิร์นสตีน ในบท “เฟลมมิ่ง” มีฉากน่ารักของ “วิลเลี่ยม” และภรรยาที่แสดงอาการหึงกัน หรือ “เฟลมมิ่ง” บ่นเรื่องอายุของตนเองให้คุณแม่แสนสวยฟัง ฉากที่ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ Notting Hill คือนางเอกไปง้อพระเอกที่ทำงาน ในสถานการณ์ที่ “อดาไลน์” ทำกับ “เอลลิส” นี่ ถ้าเราไม่รู้ว่าคนที่เราชอบมีเงื่อนไขอะไรคงทำใจลำบากน่ะ

นึกถึงทีวีซีรีส์อย่าง Forever ที่พระเอก “เฮนรี่ มอร์แกน” เป็นอมตะที่เมื่อตายด้วยสถานการณ์ไหนก็ตามเขาจะกลับมาฟื้นคืนชีพในน้ำ (ด้วยร่างกายที่เปลือยเปล่า!) แต่ “อดาไลน์” เป็นตัวละครที่ตายได้เพียงแต่ไม่แก่ขึ้น

สิ่งที่เหมือนกันและมาจากสองเรื่องนี้คือ คนที่มีชีวิตยืนยาว ไม่ได้มีความสุข เพราะทุกคนที่เรารักหรือรู้จักได้ตายจากไป พวกเขาไม่รู้สึกถึงความแก่ สายตาฝ้าฟาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเผ้ามองลูกตนเองค่อยๆแก่ขึ้นทีละน้อย ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการที่ได้มีคนที่เรารักอยู่ข้างกายและสามารถแก่ไปได้พร้อมๆกัน

ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “เพราะชีวิตมันมีจุดสิ้นสุด มันจึงสนุก” แล้วก็เลยคิดไปว่ามันสอดคล้องกับ “Life is limited edition – ชีวิตมันมีรูปแบบจำกัด” หรือจะแปลได้อีกว่า “ชีวิตของแต่ละคนนั้น มีรูปแบบทีแตกต่างกัน มันถึงเป็นลิมิตเต็ดอีดิชั่น (ของแต่ละคน)

ลองชมกันนะครับ The Age of Adaline ความยาวไม่ถึง 2 ชั่วโมง ตัดเรื่องเหนือธรรมชาติออกไป ก็คือภาพยนตร์รักโรแมนติคที่ดีเรื่องนึงนี่เอง


ติดตามข่าวภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้ที่ EntertainView https://www.facebook.com/pages/Entertainview/172702066075577